เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2566 ผมได้มีโอกาสเข่าร่วมฟังความเห็นเฉพาะกลุ่ม (Forcus Group) หัวข้อ Chinese Satellite/Constellation Perspective in 21st Century จัดโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ Gistda โดยมีบริษัท Galaxy จากสาธารณรัฐประชาชนจีนนำเสนอดาวเทียมกลุ่ม (Constellation Satellite) ที่จะสร้างในอนาคต ซึ่งทำให้เห็นว่าประเทศจีนมีความต้องการที่จะส่งดาวเทียมกลุ่มเพื่อให้ทันต่อแนวคิดดาวเทียมสื่อสาร (Communication Satellite) ในวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ (Low Earth Orbit) แทนที่ดาวเทียมสื่อสารที่อยู่ในวงโคจรรอบโลกประจำที่ (Geostationary Earth Orbit)
เรื่องนี้สอดคล้องกับข่าวซึ่งจีนต้องการส่งดาวเทียมประเภทนี้ในนามประเทศจีนที่จะสร้างดาวเทียมกลุ่มในลักษณะดาวเทียมกลุ่มขนาดใหญ่ (Megaconstellation) เพื่อท้าทายกับบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ซึ่งดำเนินการเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว โดยขณะนี้มีการเตรียมการที่จะส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ด้วยจรวด Long March 5B ซึ่งมีการติดตั้งส่วนที่ 2 (Stage 2) ใหม่ที่มีชื่อว่า Yuanzheng-2 เป็นครั้งแรกและยิงนำส่งจากท่าอวกาศยาน Wenchang ในปลายปีนี้
โครงการดาวเทียมกลุ่มขนาดใหญ่มีชื่อว่า Guowang ซึ่งแปลว่า เน็ตเวิร์คแห่งชาติ (National Network) ประกอบด้วยดาวเทียมจำนวนประมาณ 13,000 ดวง อันเป็นการท้าทายโครงการสตาร์ลิงค์ (Starlink) ของประเทศสเปซเอ็กซ์ดังที่กล่าวมารวมถึงบริษัทอื่นที่ทำโครงการลักษณะนี้
บริษัท China Aerospace Science and Technology Corporation (CASC) ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญาด้านอวกาศกับรัฐบาลจีน ได้กล่าวไว้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2566 เกี่ยวกับการใช้จรวดนำส่งลองมาร์ช (Long March) รุ่นใหม่ที่มีส่วนบน (Upper Stage) สำหรับติดตั้งดาวเทียมในโครงการนี้เพื่อนำไปปล่อยในอวกาศที่วงโคจรรอบโลกระดับต่ำ
นอกเหนือจากนี้ ยังมีบริษัท China Academy of Space Technology (CAST) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยภายใต้บริษัท CASC และมีบริษัท Innovation Academy of Microsatellites (IAMCAS) ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้ Chinese Academy of Science จะเป็นบริษัทหลักสำหรับการสร้างดาวเทียมกลุ่ม Guowang
กล่าวได้ว่าประเทศจีนมีการเพิ่มความสามารถในการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วยจำนวนบริษัทซึ่งมีความสามารถในการสร้างดาวเทียมประเภทนี้มีเพิ่มขึ้น โดยสามารถสร้างดาวเทียมจำนวนมากกว่า 100 ดวงต่อปี รวมถึงบริษัท GalaxySpace ซึ่งมาบรรยายในงานนี้ และบริษัท China Aerospace Science and Industry Corporation (CASIC) ของรัฐบาลจีน โดยบริษัท GalaxySpace ได้ทำการส่งดาวเทียมสื่อสารสำหรับการทดสอบจำนวน 6 ดวง เมื่อปีทีผ่านมา
บริษัท CASC ได้ปรับปรุงจรวดนำส่ง Long March 5B สำหรับการรองรับการส่งดาวเทียมจำนวนมากขึ้นอันเป็นนัยสำคัญเพื่อให้ทันต่อความต้องการของประเทศในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศในด้านจำนวนซึ่งเพิ่มขึ้นและใช้เวลาอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้โครงการนี้มีผลต่อท่าอวกาศยานที่ต้องมีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยท่าอวกาศยานใหม่นั้นต้องสามารถรองรับเครื่องยนต์ซึ่งใช้เชื้อเพลิง Kerosene-Liquid Oxygen ซึ่งติดตั้งในบูสเตอร์ (Booster) ด้านข้างของจรวดนำส่ง ในการเพิ่มแรงยกขณะทยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศ
ก่อนหน้านี้จรวดนำส่ง Long March 5B ได้รับการใช้งานสำหรับการส่งส่วนอุปกรณ์สำคัญสำหรับการสร้างสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong Space Station) และกำลังได้รับการปรับปรุงให้ส่วนบน (Upper Stage) สามารถบรรทุกดาวเทียมจำนวนหลายดวงและปล่อยในอวกาศได้หลายวงโคจรในการส่งเดียวกัน
เรื่องนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับการที่จะพัฒนาส่วนบน (Upper Stage) ของจรวดนำส่งให้สามารถกลับมาลงจอดบนพื้นโลกได้ แทนที่จะปล่อยให้เป็นขยะอวกาศ (Debris) เนื่องจากหน่วยงาน State Administration of Science, Technology and Industry for National Defense (SASTIND) ได้ออกเอกสารเรื่องการบริหารจัดการโครงการนำส่งสู่อวกาศของพลเรือน (The Management of Civil Space Launch Project) เมื่อต้นปี พ.ศ.2566
เอกสารซึ่งอ้างถึงได้กล่าวถึง ส่วนสุดท้ายของจรวดนำส่งควรดำเนินการ Deorbit ซึ่งคือการลดความสูงของวงโคจรเพื่อกลับสู่บรรยากาศโลก หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ อีกทั้งดาวเทียมและอวกาศยานควรจะสามารถ Deorbit ได้เมื่อหมดอายุการใช้งานตามที่ได้รับการออกแบบและการได้รับการอนุญาต (License)
ด้วยเหตุนี้บริษัทส่งอวกาศยานของจีนได้ออกแนวทางการดำเนินการรองรับข้อกำหนดที่กล่าวมาเพื่อที่จะรักษาสัญญาในการนำส่งดาวเทียมสำหรับโครงการ Guowang
ด้วยเหตุนี้บริษัทส่งอวกาศยานที่เกิดขึ้นหลังที่มีการออกนโยบายแห่งชาตินี้เมื่อปี ค.ศ. 2014 ได้พยายามปรับปรุงการสร้างจรวดนำส่งให้มีขนาดเบาและสามารถบรรทุกได้มากขึ้นเพื่อที่จะได้เป็นคู่สัญญาการส่งดาวเทียมทั้งของบริษัทของรัฐบาลและบริษัทเอกชน
จึ่งกล่าวได้ว่าขณะนี้ประเทศจีนได้เป็นประเทศด้านอวกาศที่เน้นในโครงการ Guowang และ โครงการสร้างสถานีอวกาศเทียนกง ซึ่งเป็นบทพิสูจน์การสร้างโอกาสสำหรับกิจการอวกาศพาณิชย์ โดยเฉพาะโครงการ Megaconstellation จะเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการแข่งขันด้านอวกาศของบริษัทภายในประเทศจีนและสร้างแพลตฟอร์มหลายประเภทในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวเทียมที่วงโคจรรอบโลกระดับต่ำ ซึ่งเป็นดาวเทียมของจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน โดยมีเอกสารจาก Center for Strategic and International Studies กล่าวถึงการพัฒนาด้านอวกาศของจีนอาจทำให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียโอกาสที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง
สำหรับบริษัท GalaxySpace ซี่งมาบรรยายนั้น ได้กล่าวว่าเป็นบริษัทสร้างความแข็งแกร่งด้านแอร์โรสเปซให้กับประเทศจีน (Build China’s Strength in Aerospace) ซึ่งมีนโยบายส่งดาวเทียมมากกว่า 10,000 ดวงในรูปแบบที่รัฐบาลจีนเป็นผู้นำและให้บริษัทในส่วนของ Public Sector และ Private Sector เป็นบริษัทสนับสนุน
กล่าวโดยสรุป รูปแบบของดาวเทียมสื่อสารในอนาคตมีการเปลี่ยนจากดาวเทียมขนาดใหญ่ที่นำไปวางไว้ที่วงโคจรประจำที่ ความสูง 35,780 กิโลเมตรเหนือพื้นโลกโดยประมาณ เพื่อทำการสื่อสารและถ่ายทอดสัญญาณ (Broadcast) มาเป็นรูปแบบดาวเทียมขนาดเล็กขนาด Nano Satellite หรือ Micro Satellite วางไว้ในวงโคจรใกล้โลกหรือ เรียกว่าวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ ความสูงประมาณ 100-1,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก แต่ด้วยการเคลื่อนที่ไม่สัมพันธ์กับพื้นผิวโลกที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ทำให้ต้องใช้จำนวนดาวเทียมจำนวนมากเพื่อทำการรับส่งข้อมูลของดาวเทียมซึ่งกันและกันสำหรับถ่ายทอดมาลงพื้นที่เฉพาะบนพื้นโลก ซึ่งบริษัทที่สร้างดาวเทียมประเภทนี้กล่าวว่าจะทำให้ต้นทุนต่ำกว่าดาวเทียมขนาดใหญ่ มีประสิทธิภาพมากกว่า และสามารถสร้างดาวเทียมทดแทนได้ทำให้มีการปรับปรุงเทคโนโลยี ด้วยเหตุผลที่ดาวเทียมขนาดเล็กมีอายุการใช้งานน้อยกว่าดาวเทียมขนาดใหญ่ ซึ่งนับแต่นี้ต้องมาติดตามการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้และจะมีผลต่อการใช้งานด้านการสื่อสารในลักษณะใด
แปลและเรียบเรียง : พนม อินทรัศมี
วันเสาร์ ที่ 3 มิถุนายน 2566
ที่มาของข้อมูลและภาพ :
– https://spacenews.com/china-to-begin-constructing-its-own-megaconstellation-later-this-year/
– https://payloadspace.com/china-launches-wentian-laboratory-module-to-tiangong/
– เอกสารประกอบการบรรยายการรับฟัง Focus Group on Chinese Satellite/Constellation Perspective in 21st Century เมื่อ 2 มิถุนายน 2566 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน)