หลายครั้งเมื่อกล่าวถึงการเดินทางไปในอวกาศ มีการกล่าวถึงการเดินทางในลักษณะ Orbital Flight หรือ Suborbital Flight ทำให้เกิดข้อสงสัยความแตกต่างระหว่างการเดินทางของสองประเภทนี้
การเดินไปในอวกาศหรือ Spaceflight ซึ่งสัมพันธ์กับโลก สามารถแบ่งได้ออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. Orbital Flight คือ การเดินทางไปในอวกาศในลักษณะมีการโคจรรอบโลกอย่างน้อยหนึ่งรอบ โดยการโคจรนี้เป็นต้องเป็นการเคลื่อนที่ซึ่งมีความเร็วคงที่เท่ากับ Orbital Velocity และมีระยะความสูงคงที่ตลอดการเดินทาง บางครั้งอาจเป็นวงโคจรที่เป็นลักษณะวงรี (Elliptical Orbit) ที่เคลื่อนที่รอบโลกซึ่งมีความเร็วและความสูงเหนือพื้นโลกเปลี่ยนแปลงตลอดวงโคจรตามหลักการ Orbital Mechanics
2. Suborbital Flight เป็นลักษณะการเดินทางไปในอวกาศที่ไปสู่สภาพอวกาศแล้วเดินทางกลับมาสู่โลก โดยทั่วไปเป็นการเดินทางไปเกินระยะ Karman Line ที่มีความสูง 100 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ซึ่งเป็นระยะแบ่งสภาพบรรยากาศโลกกับสภาพอวกาศ
ช่วงระยะเวลาการแข่งขันด้านอวกาศ (Space Race) สหภาพโซเวียตส่งอวกาศยาน Vostok 1 ที่นำ ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) โคจรรอบโลกหนึ่งรอบเมื่อ 12 เมษายน พ.ศ.2504 (ค.ศ.1961) จึงกล่าวได้ว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นลักษณะ Orbital Flight ด้วยความเร็ว 27,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางครบหนึ่งรอบ 108 นาที ทำให้ยูริ กาการินเป็นมนุษย์คนแรกที่เดินทางในลักษณะ Orbital Flight
ช่วงเวลานั้นสหรัฐอเมริกาได้ส่งอลัน เซพาร์ด (Alan Shepard) เดินทางไปในอวกาศด้วยอวกาศยาน Mercury Capsule ซึ่งอลันตั้งชื่อว่า Freedom 7 ไปที่ความสูง 185 กิโลเมตร (115 ไมล์) เหนือพื้นโลก ใช้เวลา 15 นาที เมื่อ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2504 (ค.ศ.1961) จึงเป็นการเดินทางลักษณะ Suborbital Flight ที่ไปในอวกาศสูงกว่าเส้น Karman Line และกลับสู่พื้นโลก ทำให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาได้เดินทางไปอวกาศหลังสหภาพโซเวียต 23 วัน และทำได้เพียงไปสัมผัสอวกาศ แต่ยังไม่สามารถเดินทางรอบโลกได้ อย่างไรก็ตามอลัน เซพาร์ดเป็นมนุษย์คนแรกที่เดินทางลักษณะ Suborbital Flight
กระทั่งเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2505 (ค.ศ.1962) สหรัฐอเมริกาได้ส่งนักอวกาศจอห์น เฮช เกลนน์ (John H. Glenn) เดินทางไปในอวกาศโดยโคจรรอบโลก 3 รอบ ใช้เวลา 4 ชั่วโมง 55 นาที ด้วยอวกาศยาน Mercury ที่มีชื่อว่า Friendship 7 จึงนับได้ว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นลักษณะ Orbital Flight เนื่องจากเป็นการเดินทางรอบโลกอย่างสมบูรณ์ ทำให้ทั้งสองประเทศมีเทคโนโลยีในการเดินทางไปในอวกาศอันเป็นพื้นฐานสำหรับการเดินทางที่ก้าวหน้าต่อมาในอนาคต
ปัจจุบันบริษัทบลูออริจิน (Blue Origin) ได้ส่งอวกาศยาน RSS (Reusable Space Ship) First Step มีลักษณะเป็นแคบซูลนำมนุษย์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศและกลับลงมา โดยใช้จรวดนำส่ง New Shepard นำขึ้นไป จึงเป็นการเดินทางในลักษณะ Suborbital Flight
Orbital Flight มีความสำคัญมากต่ออวกาศยานประเภทดาวเทียม (Satellite) สำหรับการโคจรรอบโลก หรืออวกาศยานประเภทอื่นในการใช้ลักษณะการเคลื่อนที่แบบนี้เป็นวงโคจร Parking Orbit ที่ต้องโคจรรอบโลกระยะหนึ่งสำหรับเตรียมการเดินทางต่อไปในอวกาศ
ขณะที่ Suborbital Flight มีความจำเป็นสำหรับการทดลองและการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ อันทำให้ทราบถึงสภาพอวกาศเพื่อเป็นพื้นฐานการศึกษาอวกาศขั้นสูงต่อไป อีกทั้งเป็นได้รับความสนใจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศ (Space Tourism) สำหรับบุคคลในการที่ไปสัมผัสอวกาศ การอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก และการมองโลกกลับมาจากอวกาศ
เรียบเรียง : พนม อินทรัศมี
วันจันทร์ ที่ 5 มิถุนายน 2566
ที่มาของข้อมูลและภาพ :
– https://airandspace.si.edu/explore/stories/alan-shepard
– https://history.nasa.gov/friendship7
– https://space.nss.org/wp-content/uploads/An-introduction-suborbital-launch-industry-presentation.pdf
– https://www.nasa.gov/directorates/heo/scan/images/history/April1961.html
– https://www.universetoday.com/44798/suborbital-could-be-next-big-thing-for-space-science