Crew Dragon ในภารกิจ Ax-3 เข้าเทียมสถานีอวกาศนานาชาติ (Credit : www.axiomspace.com)

บริษัท Axiom Space ประสบความสำเร็จในภารกิจ Axiom Missionครั้งที่ 3 หรือ Ax-3 นับได้ว่าเป็นภารกิจการขนส่งนักอวกาศของเอกชนซึ่งเป็นอดีตนักอวกาศขององค์การนาซาและนักอวกาศยุโรปอีก 3 คน ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ โดยใช้บริการการนำส่งขึ้นสู่อวกาศของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX)

อวกาศยานนำส่งของบริษัทสเปซเอ็กซ์สำหรับการเดินทางครั้งนี้คือจรวดนำส่งฟอลคอน 9 (Falcon 9) ออกเดินทางด้วยการยกตัว (Liftoff) ออกจาก Launch Complex  39 ท่าอวกาศยาน Kennedy Space Center มลรัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2567 เวลา 16.49 ตามเวลาท้องถิ่นฟรอลิดา (เวลา 21.49 UTC) โดยนำส่งอวกาศยาน Crew Dragon ที่มีชื่อว่า Freedom เข้าสู่วงโคจรและแยกตัวออกจากส่วนบน (Upper Stage) ของจรวดนำส่งหลังจากยกตัวแล้ว 12 นาที  

จรวดนำส่งฟอลคอน 9 ขณะยกตัวขึ้นเดินทางไป ISS ในภารกิจ Ax-3 (Credit : spacenews.com และ spacex.com)

ตามกำหนดการเดิมของการนำส่งเป็นวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2567 แต่มีความล่าช้าเป็นเวลา 6 ชั่วโมง เนื่องจากบริษัทสเปซเอ็กซ์ต้องการทำการตรวจสอบขั้นตอนก่อนยิงนำส่ง (Pre-Launch Checkouts) และวิเคราะห์ข้อมูลของอวกาศยานให้สมบูรณ์

บริษัทสเปซเอ็กซ์ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับความล่าช้า แต่ทั้งบริษัท Axiom Space และองค์การนาซากล่าวในภายหลังว่าการล่าช้ามีขึ้นเพื่อเพิ่มเวลาสำหรับการตรวจสอบสายรัดร่มชูชีพ (Parachute Straps) แบบที่เรียกว่า Energy Modulators ในอวกาศยาน Crew Dragon โดยก่อนหน้านี้บริษัทกล่าวในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2567 สำหรับการสรุปขั้นตอนก่อนยิงนำส่งว่าตรวจพบปัญหากับสายรัดร่มชูชีพเหล่านี้ ซึ่งได้รับการออกแบบให้ทำสามารถปรับสภาวะของแรงหรือ Load ของร่มชูชีพหลักเมื่อถูกดึงออกจากอวกาศยาน Cargo Dragon ที่มีลักษณะเป็นแคบซูลในระหว่างการกลับมาของภารกิจ CSR-29 Cargo Dragon เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2567 ทั้งนี้บริษัทสเปซเอ็กซ์กล่าวว่าอาจจะเกิดจากการบิดตัว (Twist) ของสายรัดร่มชูชีพ และเจ้าหน้าที่ได้ทำการแก้ไขการบิดอุปกรณ์ Energy Modulators ในร่มชูชีพที่ใช้ในอวกาศยาน Crew Dragon ก่อนเริ่มการยกตัวขึ้น

ภารกิจ Axiom-3 มีนักอวกาศเดินทาง 4 คนของยุโรป ประกอบด้วยนาย Michael López-Alegría ผู้บังคับการ (Commander) ของภารกิจ ผู้ถือสัญชาติทั้งอเมริกาและสเปน เคยปฏิบัติภารกิจเป็นผู้บังคับการของภารกิจ Axiom Mission 1 (Ax-1) อีกทั้งเคยเป็นนักอวกาศซึ่งเดินทางด้วยกระสวยอวกาศ (Space Shuttle) และปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) มาก่อนหน้านี้

สำหรับนักอวกาศอีก 3 คน เป็นนักอวกาศ โดยคนแรกคือ Walter Villadei ตำแหน่งนักบิน (Pilot) ในภารกิจนี้ โดยปัจจุบันเป็นทหารอากาศของอิตาลี และเคยบิน Suborbital VSS Unity Spaceplane ให้กับบริษัท Virgin Galactic เมื่อปี พ.ศ.2556      

นักอวกาศอีกสองคนปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญภารกิจ (Mission Scecialist) ของภารกิจ Ax-3 คือ Alper Gezeravcı จากประเทศทูร์เคีย และ Marcus Wandt จากประเทศสวีเดน โดยนาย Gezeravcı เป็นนักบินของกองทัพอากาศทูร์เคียและเป็นบุคคลแรกของประเทศที่เดินทางไปในอวกาศ ขณะที่นาย Wandt คืออดีตนักบินของกองทัพอากาศสวีเดนและเป็นผู้เดินทางไปในอวกาศคนที่ 2 ของประเทศ

เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2567 เวลา 05.42 ET อวกาศยาน Crew Dragon ได้เข้าเทียบ (Dock) กับโมดูลฮาร์โมนี (Harmony Module) ของสถานีอวกาศนานาชาติได้อย่างปลอดภัย โดยเป็นการเดินทางประมาณ 36 ชั่วโมง ทำให้การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญของสภาพยุโรปในการส่งนักอวกาศในการส่งนักอวกาศของบริษัทเอกชนในยุโรปไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเป็นครั้งแรก

เมื่อเดินทางไปเข้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติ นักอวกาศทั้งสี่คนได้ปฏิบัติภารกิจประจำวันที่ได้รับมอบหมายเป็นเวลา 14 วัน สำหรับการดำเนินการทำการวิจัยด้าน Microgravity ให้ห้องวิจัยขณะโคจร (Orbiting Laboratory) การศึกษาและวิเคราะห์สถาปัตยการโคจร (Orbital Architecture) ตลอดจนการถ่ายภาพบรรยากาศของโลกตามมาจนกว่าจะเดินทางกลับสู่พื้นโลก

หลังจากนี้บริษัท Axiom Space มีแผนจะส่งนักอวกาศอีกครั้งในภารกิจ Axiom 4 (Ax-4) ซึ่งขณะนี้รอการยืนยันและข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทในอนาคตภายหลังจากภารกิจ Ax-3 ประสบความสำเร็จ

สำหรับรายละเอียดการปฏิบัติภารกิจประจำวันและรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามจากเว็บไซต์ www.axiomspace.com

Remark :

Suborbital คือ การบินขึ้นไปในอวกาศแล้วกลับลงมาแต่ไม่ได้โคจรรอบโลก

เรียบเรียง : นาวาอากาศเอก ดร.พนม อินทรัศมี

วันเสาร์ ที่ 27 มกราคม 2567

ที่มาของข่าวและภาพ :

https://www.axiomspace.com

https://spacenews.com/spacex-launches-third-axiom-mission-to-iss

https://www.spacex.com

ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

Previous articleอวกาศยาน SLIM ยังคงรอคอยความหวัง
Next articleจีนยิงนำส่งดาวเทียม 2 ครั้งติดต่อกัน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here