หลังจากภารกิจ 23 วัน กับการเดินทาง 230,000 ไมล์ ในที่สุดแคปซูลของอวกาศยานชางอี 5 ได้กลับมาสู่โลก ช่วงเช้าวันพฤหัสบดี ที่ 17 ธันวาคม 2563 เวลา 04.30 ตามเวลากรุงปักกิ่ง ตรงกับเวลาประเทศไทย 03.30 ในวันเดียวกัน

ส่วนสุดท้ายของอวกาศยานชางอี 5 หรือ รีเทิร์นเนอร์ (Returner) เดินทางกลับมาสู่โลกโดยแคปซูลได้แยกตัวออกจากส่วนรีเทิร์นเนอร์ เข้าสู่บรรยากาศโลกที่ความสูงประมาณ 120 กิโลเมตร เมื่อเวลา 01.33 ในวันดังกล่าว ด้วยความเร็วประมาณ 11.2 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นความเร็วเท่ากับความเร็วสำหรับการที่อวกาศยานสามารถหลุดจากแรงโน้มถ่วงของโลกได้ เรียกว่า Escape Velocity และจีนประกาศเป็นความสามารถอีกอย่างหนึ่งสำหรับการควบคุมอวกาศยานที่ความเร็วนี้ได้

แคปซูลได้กระเด้งสองครั้งกับบรรยากาศโลกด้านนอก และทำการลดความเร็วเพื่อปรับระดับความชันในการเข้าสู่โลก และเมื่อถึงระดับความสูง 10 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ร่มชูชีพได้กางออก ทำให้ส่วนแคปซูลสามารถลงพื้น (Landing) ได้อย่างนิ่มนวล บริเวณ Siziwang Banner ในเขตปกครองตนเองมองโกล ตอนเหนือของประเทศจีน ตามที่ได้วางแผนไว้

ทีมงานภาคพื้นดิน ได้เข้าเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ตกของแคปซูลตามที่ได้จำลองการลงสู่พื้นไว้ โดยประสานงานกับทีมงานภาคอากาศ ในการใช้กล้องอินฟราเรดสำหรับการตรวจหาแคปซูล

แคปซูลจะได้รับการขนส่งไปยังกรุงปักกิ่ง โดยจะทำการเปิดและนำตัวอย่างจากดวงจันทร์ออกมาที่ห้องปฏิบัติการทดลองกรุงปักกิ่ง

หลังจากนั้นในวันเดียวกัน จีนได้ประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับตัวอย่างที่นำมาจากดวงจันทร์ คือ ดินและหิน  พร้อมที่จะแบ่งมอบให้ประเทศหรือองค์กรภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือนานาชาติ เมื่อได้รับคำถามเกี่ยวกับการมอบตัวอย่างจากดวงจันทร์ให้องค์การบริหารด้านการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA (National Aeronautics and Space Administration)  อีกทั้งรัฐบาลจีนจะปฏิบัติตามสนธิสัญญาอวกาศภายนอก (Outer Space Treaty) เกี่ยวกับทรัพยากรอวกาศถือว่าเป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติ ตามคำกล่าวของนายวู วานหัว (Wu Yanhua) รองประธานบริหารองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration) เมื่อแถลงข่าวโครงการชางอี 5

จากความสำเร็จครั้งนี้ ภารกิจชางอี 5 ทำให้เกิดสิ่งแรก 5 ประการ (5 Firsts) สำหรับประวัติศาสตร์ด้านอวกาศของจีน คือ การเก็บตัวอย่างจากดวงดาวในอวกาศ การยกตัว (Take-off) ของอวกาศยานจากดวงดาวในอวกาศ การพบกันและเชื่อมต่อปราศจากคนควบคุม (Unmanned Rendezvous and Docking) ของอวกาศยานในวงโครจรดวงจันทร์ (Lunar Orbit) การกลับสู่โลกด้วยความเร็ว Escape Velocity และการวิจัยและวิเคราะห์ตัวอย่างจากดวงจันทร์

สรุปการเดินทางของอวกาศยานชางอี 5

24 พ.ย.2563 ยิงนำส่งด้วยจรวดนำส่งลองมาร์ช 5 (Long March 5)

28 พ.ย.2563 อวกาศยานชางอี 5 เดินทางเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์

1 ธ.ค.63 ส่วน Lander และ Ascender ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์

2 ธ.ค.63 ส่วน Lander เก็บตัวอย่างของดวงจันทร์และบรรจุไว้ในที่เก็บของส่วน Ascender

3 ธ.ค.63 ส่วน Ascender ยกตัวขึ้นจากส่วน Lander บนพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อเดินทางไปเจอกับส่วน Retuner ในวงโครจรรอบดวงจันทร์

6 ธ.ค.63 ส่วน Ascender สามารถเดินทางจนพบ (Reduure) และเชื่อมต่อ (Docking) กับส่วน Returner ได้ หลังจากนั้นมีการย้ายตัวอย่างของดวงจันทร์จากส่วน Ascender ไปยัง Returner

13 ธ.ค.63 ส่วน Returner เข้าสู่ Transfer Orbit สำหรับการกลับสู่โลก

17 ธ.ค.63 แคปซูลของส่วน Returner พร้อมตัวอย่างจากดวงจันทร์เกลับเข้าสู่บรรยากาศโลกและลงสู่พื้นดิน  บริเวณ Siziwang Banner ในเขตปกครองตนเองมองโกล ตอนเหนือของประเทศจีน

จึงสามารถกล่าวได้ว่า เป็นระยะเวลามากกว่า 40 ปี ที่มนุษย์สามารถนำตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมาสู่โลก นับจากโครงการอพอลโลของสหรัฐอเมริกาและลูนาของสหภาพโซเวียตขณะนั้น ดังนั้นเป้าหมายใหญ่สำหรับจีนที่จะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์จึงไม่ไกลเกินเอื้อม  

ที่มาของข่าวและภาพ :

https://newsus.cgtn.com/news/2020-12-17/China-s-Chang-e-5-lunar-probe-successfully-returns-to-Earth-WhpHOUX5qU/index.html
https://newsus.cgtn.com/news/2020-12-17/China-s-Chang-e-5-lunar-probe-successfully-returns-to-Earth-WhpHOUX5qU/index.html
https://news.cgtn.com/news/2020-12-17/Chang-e-5-achieves-breakthroughs-in-China-s-deep-space-exploration–WikE7l9XSo/index.html

แปลและเรียบเรียง : นาวาอากาศเอก พนม อินทรัศมี

Previous articleจีนนำส่งดาวเทียมสองดวงตรวจจับคลื่นแรงโน้มถ่วง
Next articleภาพยนตร์เกี่ยวกับภารกิจไปดวงจันทร์

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here