กองทัพอวกาศสหรัฐสนับสนุนการกำจัดขยะอวกาศ

กองทัพอวกาศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยข้อมูลถึงความต้องการที่จะสนับสนุนการกำจัดขยะอวกาศผ่านโครงการที่มีชื่อว่า Orbital Prime โดยมีวัตถุประสงค์ในการชักชวนภาคธุรกิจและภาคการศึกษาในการสร้างสรรค์และพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยในการลดปัญหาขยะอวกาศที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีกำหนดการให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจเสนอความต้องการของการดำเนินการ Phase I ในช่วงกลางเดือน ก.พ.2022 และได้กำหนดเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม การศึกษา และการวิจัย เพื่อประยุกต์เทคโนโลยีใหม่สำหรับใช้ในการกำจัดขยะอวกาศ ตลอดจนมีเป้าหมายในระยะยาวที่จะเป็นโครงการสาธิตด้านเทคโนโลยีกำจัดขยะอวกาศให้ได้สำเร็จภายใน 3 ปี

ภาพตัวอย่าง แบบจำลองขยะอวกาศรอบโลกจาก ESA

   โครงการ Orbital Prime ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก Program Small Business Technology Transfer (STTR) โดยให้บริษัทต่าง ๆ จัดตั้งทีมงานร่วมกับหน่วยงานภาคการศึกษาหรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยใน Phase I นี้ ตั้งเงินรางวัลสำหรับการทำวิจัยเป็นจำนวน 250,000 เหรียญสหรัฐ และใน Phase II จะเพิ่มเป็น 1,500,000 เหรียญสหรัฐ

            กองทัพอวกาศสหรัฐอเมริกาตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถใช้งานเทคโนโลยีสำหรับการกำจัดขยะอวกาศที่สร้างสรรค์โดยภาคเอกชนนี้ได้ในอนาคต เพื่อลดปัญหาขยะอวกาศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันวัตถุอวกาศที่กองทัพอวกาศสหรัฐติดตามอยู่มีจำนวนมากกว่า 40,000 ชิ้น หากแต่เป็นดาวเทียมที่ยังอยู่ระหว่างการใช้งานอยู่เพียงประมาณ 5,000 ชิ้น จากการประมาณการเบื้องต้น ขยะอวกาศจำนวน 35,000 ชิ้นนี้มีขนาดประมาณกำปั้นของมนุษย์หรือใหญ่กว่า และคาดว่าจะมีขยะอวกาศที่มีขนาดเล็กกว่านี้อีกประมาณ 10 เท่าที่โคจรอยู่ในอวกาศรอบโลก ซึ่งเกิดเป็นความเสี่ยงที่จะสร้างความให้แก่ดาวเทียมและอวกาศยานที่โคจรรอบโลก ดังนั้นการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างยั่งยืนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสรรหานวัตกรรมสำหรับการ Recycle Reuse และ Remove ขยะอวกาศเหล่านี้

 

ที่มา

https://spacenews.com/space-force-wants-to-help-fund-technologies-to-recycle-reuse-or-remove-space-debris/

https://www.esa.int/Safety_Security/Space_Debris

Previous articleเมื่ออวกาศยานโคจรรอบความว่างเปล่า (ตอนที่ 1 วงโคจรรอบจุดสมมติ)
Next articleจรวดท่อนบนของภารกิจ Angara กลับเข้าสู่โลกหลังจากการนำส่งล้มเหลว

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here