บริษัทอุตสาหกรรมด้านคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ของสาธาณรัฐประชาชนจีน Shanghai Lanjian Technology Company (Hongqing Technology) ได้ยื่นแจ้งกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) เพื่อปล่อยดาวเทียมกลุ่ม (Constellation) Honghu-3 จำนวน 10,000 ดวง ในวงโคจรที่มีจำนวนระนาบวงโคจร (Orbital Plane) 160 ระนาบวงโคจร โดยการยื่นแจ้งครั้งนี้เป็นขั้นตอนหนึ่งของการอนุญาตซึ่งให้ผู้ประกอบการดาวเทียมรายอื่นทำการประเมินการรบกวนที่อาจเกิดขึ้นจากดาวเทียมกลุ่มนี้
Honghu-3 เป็นกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่ (Megaconstellation) ระดับชาติของจีนอันดับสามต่อจากโครงการ Guowang และโครงการ G60 Starlink ที่ได้รับการสนับสนุนจากเซี่ยงไฮ้ ซึ่งสองโครงการหลังนี้ได้รับรับรองจากหน่วยงาน National Development and Reform Commission (NDRC) เรียบร้อยแล้ว ทำให้แผนการเหล่านี้มุ่งสร้างจีนเป็นผู้นำในระบบอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมและความสามารถทางอวกาศครบวงจร
การขยายตัวของกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่ลักษณะนี้ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความแออัดในอวกาศ การชนกันและเศษวัตถุอวกาศ (Debris) ในวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ (Low Earth Orbit) ซึ่งเป็นวงโคจรที่มีดาวเทียมกลุ่ม Starlink ของบริษัท SpaceX ที่มีดาวเทียมมากกว่า 5,000 ดวงดำเนินการในวงโคจรนี้อยู่แล้ว
บริษัท Hongqing Technology ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2017 โดยบริษัท Landspace ซึ่งอยู่ในกรุงปักกิ่งถือหุ้น 48% โดยในขั้นเริ่มต้นบริษัทเป็นที่รู้จักในการพัฒนา Hall Thruster Propulsion Technology ภายหลังได้มาพัฒนาการสร้างดาวเทียม โดยดำเนินการสร้างดาวเทียมในเมือง Wuxi จังหวัด Jiangsu ใกล้กับเมืองเซี่ยงไฮ้
บริษัทได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา บริษัทพัฒนาชุดขับเคลื่อน (Thruster) ที่มีชื่อว่า Jinwu-200 (JW-200) Krypton Propellant Hall Effect Thruster และทำการทดสอบกับดาวเทียม Honghu-2 ที่นำส่งส่งโดยจรวดนำส่ง Zhuque-2
การพัฒนาของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของ Shanghai’s Action Plan ของกรุงเซี่ยงไฮ้ในการพัฒนาระบบนิเวศน์อวกาศพาณิชย์ (Commercial Space Ecosystem) โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีนในการเป็นผู้นำการสร้างระบบดาวเทียมอินเตอร์เนตและศักยภาพด้านอวกาศ
สำหรับประเทศจีน ได้มีการประกาศแผนแห่งชาติ (National Plan) ด้าน Space-Ground Integrated Information Network ซึ่งเป็นรวมกันของระบบเนตเวิร์คได้แก่ระบบสื่อสาร (Communication) การรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) การนำทาง (Navigation) การติดตามสภาพอากาศ (Weather) และความสามารถของดาวเทียมในด้านอื่นๆ เข้าด้วยกัน
ปัจจุบันบริษัท Landspace กำลังพัฒนาจรวดนำส่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ที่มีชื่อ Zhuque-3 โดยใช้เชื้อเพลิงมีเทน-ออกซิเจนเหลว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 เมตร สามารถบรรทุกน้ำหนักได้ถึง 21,000 กิโลกรัมสู่วงโคจรต่ำของโลก โดยมีแผนยิงนำส่งครั้งแรกในปี ค.ศ. 2025 และขณะนี้ได้ผ่านการทดสอบการยิงนำส่งลักษณะ Vertical Takeoff and Vertical Landing (VTVL) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อุตสาหกรรมด้านอวกาศของจีนได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วทำให้มีบริษัทสตาร์ทอัพที่พัฒนาจรวดนำส่งหลายบริษัทได้แก่ Space Pioneer, Galactic Energy และ iSpace ซึ่งกำลังจะมีบทบาทสำหรับการยิงนำส่งของจีน
ขณะเดียวกันนี้ประเทศจีนกำลังสร้างท่าอวกาศยานเชิงพาณิชย์ใกล้กับ Wenchang เพื่อเพิ่มจำนวนการปล่อยอวกาศยานที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกทั้งเป็นการสนับสนุนการนำส่งดาวเทียมกลุ่มขนาดใหญ่ในอนาคต
เรียบเรียง : นาวาอากาศเอก ดร.พนม อินทรัศมี
วันอังคาร ที่ 28 พฤษภาคม 2567
ที่มาของข่าวและภาพ :
– https://spacenews.com/chinese-firm-files-plans-for-10000-satellite-constellation
– https://english.news.cn/20231209/a97a0b3b0e114a39b8fc6aefd8e69d0d/c.html
ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้