อวกาศยาน CST-100 Starliner ของบริษัทโบอิ้งได้เข้าเทียบ (Dock) กับสถานีอวกาศนานาชาติเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2567 เวลา 1334 ตามเวลาท้องถิ่นมลรัฐฟลอริดา หรือ 1734 ตามเวลา UTC ซึ่งเป็นการเดินทางประมาณ 27 ชั่วโมงหลังจากได้ทำการยกตัว (Liftoff) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2567
การเชื่อมต่อครั้งนี้ อวกาศยาน Starliner ได้เข้าเทียบกับ Port ด้านหน้าโมดูล Harmony ของสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งเป็นความสำเร็จในภารกิจ Crew Flight Test (CFT) ของอวกาศยาน Starliner ซึ่งมีนักอวกาศขององค์การนาซา 2 คน คือ Butch Wilmore และ Suni Williams โดยได้เข้าไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ประมาณสองชั่วโมงหลังจากการเชื่อมต่อ
การเข้าเทียบดำเนินการช้ากว่ากำหนดการมากกว่าหนึ่งชั่วโมง เนื่องจากวิศวกรต้องแก้ไขกับระบบขับเคลื่อน Reaction Control System (RCS) Thruster จำนวน 5 ระบบไม่ทำงานในช่วงที่อวกาศยาน Starliner เคลื่อนที่เข้าใกล้กับสถานีอวกาศนานาชาติ และผู้ควบคุมสถานีอวกาศนานาชาติได้รักษาระยะให้ห่างไว้ 200 เมตรขณะที่แก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น
ภายหลังการเข้าเทียบ เจ้าหน้าที่องค์การนาซาและบริษัทโบอิ้งได้ให้ข้อมูลไม่ยืนยันสาเหตุของปัญหาของระบบขับเคลื่อน แต่ได้แก้ไขทำให้ระบบขับเคลื่อนสามารถทำงานได้เพียง 4 ระบบ จึงทำให้การเชื่อมต่อสามารถดำเนินไปได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับปัญหาเคยเกิดขึ้นในการทดสอบการบิน Orbital Flight Test 2 (OFT-2) ในภารกิจที่ไม่มีนักอวกาศอยู่ในอวกาศยานเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565
มีข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้รับการเปิดเผยคือเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ช่วงระหว่างการเดินทาง ผู้ควบคุมอวกาศยานได้ตรวจพบการรั่วของฮีเลียมอีกสองแห่งในระบบขับเคลื่อนของอวกาศยาน Starliner ซึ่งเป็นอีกการรั่วของฮีเลียมนับจากที่เคยพบหลังจากการยกเลิกการนำส่งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ส่งผลให้เครื่องยนต์บางส่วนไม่ทำงาน
อย่างไรก็ตามผู้จัดการภารกิจ (Mission Manager) ได้อนุมัติให้การเข้าเทียบสามารถดำเนินไปได้ในวันที่ 6 มิถุนายน โดยตัดสินใจใช้ฮีเลียมเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความดันในระบบและทำให้ชุดขับเคลื่อนทำงานได้ และหลังจากการเข้าเทียบแล้วยังพบการรั่วของฮีเลียมในอวกาศยาน นับเป็นครั้งที่สี่ แต่เล็กกว่าสามแห่งที่เคยได้ตรวจพบ โดยยังไม่มีความชัดเจนว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดการรั่วของฮีเลียมและมีการคาดว่าน่าจะมาจากสาเหตุเดียวกัน
ขณะที่อวกาศยาน Starliner ที่เชื่อมต่อกับสถานีนั้นได้มีการปิดอุปกรณ์ Manifold ซึ่งเป็นอุปกรณ์ควบคุมการไหลในระบบขับเคลื่อนทำให้หยุดการรั่วไหลของฮีเลียม และเมื่อตรวจสอบจำนวนฮีเลียมที่เหลือ ยังปริมาณเพียงพอกับอัตราการรั่วที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะให้อวกาศยาน Starliner แยกตัว (Undock) จากสถานีอวกาศนานาชาติและเดินทางกลับมายังโลก โดยระหว่างที่อยู่กับสถานีอวกาศนานาชาติจะดำเนินการหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการรั่วไหล
เรียบเรียง : นาวาอากาศเอก ดร.พนม อินทรัศมี
วันเสาร์ ที่ 8 มิถุนายน 2567
ที่มาของข่าวและภาพ :
https://edition.cnn.com/2024/06/06/science/boeing-starliner-new-helium-leaks-scn/index.html
ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้