ดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มนุษย์ได้สร้างและส่งขึ้นโคจรในอวกาศได้สำเร็จ ตามการจัดสถิติของ Guinness World Records ได้แก่ ISS หรือ International Space Station ซึ่งมีความยาว (End to End) ประมาณ 109 meters (ใกล้เคียงกับขนาดของสนามอเมริกันฟุตบอล) มี Solar Array Wingspan ยาวประมาณ 73 meters (ใกล้เคียงกับความยาวของเครื่องบินแบบ A380) และมีน้ำหนักประมาณ 419,725 kg
การสร้างสำเร็จด้วยความร่วมมือและเงินลงทุนร่วมกันจาก 5 หน่วยงานด้านอวกาศที่สำคัญ คือ NASA (สหรัฐอเมริกา), Roscosmos (รัสเซีย), ESA (สหภาพยุโรป), JAXA (ญี่ปุ่น) และ CSA (แคนาดา) โดยมีความมุ่งหวังให้เป็นสถานีอวกาศเพื่อใช้สำหรับดำเนินการทดลองด้านอวกาศ
การสร้างดาวเทียมที่มีน้ำหนักมากและมีขนาดใหญ่ดังกล่าว ต้องใช้วิธีการขนส่งวัสดุและอุปกรณ์ขึ้นไปในอวกาศเป็น Module และดำเนินการสร้างในวงโคจร (Built in Orbit)
โดย Module แรกได้รับการส่งขึ้นไปในปี ค.ศ.1998 และมีการนำส่งเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.2011รวม 42 เที่ยวบิน (สหรัฐอมเริกา 37 เที่ยวบิน รัสเซีย 5 เที่ยวบิน) ซึ่งการประกอบ Module ต่างๆ เข้าด้วยกันได้ใช้ทั้ง Spacewalk จากนักบินอวกาศ และระบบ Robotics เป็นผู้ดำเนินการ
ทั้งนี้ ISS ได้เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.2000 เมื่อนับจนถึงปัจจุบันมีนักบินอวกาศจาก 19 ประเทศ ได้ไปที่สถานีอวกาศนี้แล้ว 239 คน และมีผลงานการทดลองเกี่ยวข้องกับงานวิจัยมากกว่า 2,700 งาน
สำหรับข้อมูลทางเทคนิคของ ISS ที่สำคัญอื่นๆ สามารถสรุปได้ดังนี้
- วงโคจรที่ระยะประมาณ 400 km จากพื้นโลก
- เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 28,000 km/h โดยจะใช้เวลาประมาณ 90 นาทีในการโคจรรอบโลก
- สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากพื้นโลก
- มีแผนการใช้งานอย่างน้อยไปจนถึงปี ค.ศ.2024 และสามารถขยายเวลาต่อได้ถึง ปี ค.ศ.2028 เป็นอย่างน้อย
- สามารถจอดยานอวกาศได้จำนวนครั้งละ 6 Spaceship
- ยานอวกาศจากโลกสามารถไปถึงยัง ISS ได้ในเวลาประมาณ 6 ชม.
เรียบเรียงโดย : รณชัย วุฒิวิทยารักษ์
ที่มา : https://www.nasa.gov/feature/facts-and-figures https://www.space.com/16748-international-space-station.html https://www.guinnessworldrecords.com/world-records/largest-artificial-satellite/