เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2566 เวลา 23.04 ตามเวลาท้องถิ่น จรวดนำส่ง Falcon Heavy ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ได้เคลื่อนที่ขึ้น (Lift-Off) จากท่าอวกาศยาน Kennedy Space Center มลรัฐฟลอริดา สำหรับนำส่งดาวเทียม Jupiter-3 ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารใหญ่ที่สุด ขึ้นสู่วงโคจร Geosynchronous Transfer Orbit โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาทีดาวเทียมสามารถออกจากจรวดนำส่งเข้าสู่วงโคจรได้

สำหรับส่วน Booster จำนวนสองส่วน ซึ่งเป็นส่วนขับดันจรวดนำส่งในช่วงแรก หลังจากแยกตัวจากจรวดนำส่งได้กลับลงสู่โลกหลังจากเคลื่อนที่ขึ้นประมาณเจ็ดนาทีและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้  โดยก่อนหน้านี้ได้เคยมีการใช้ Booster ทั้งสองส่วนนี้ใช้กับภารกิจของกองทัพอวกาศสหรัฐอเมริกามาสองครั้ง คือ USSF-44 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565 และ UFFF-67 เมื่อตอนต้นปี

ตามกำหนดการเดิม การนำส่งครั้งนี้จะมีขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2566 แต่ต้องมีการยกเลิกภารกิจขณะเหลือเพียงหนึ่งนาทีก่อนเริ่มดำเนินการ โดยบริษัทสเปซเอ็กซ์ไม่ได้เปิดเผยสาเหตุที่ต้องยกเลิกภารกิจและเลื่อนการเดินทางออกไป ทำให้มีเวลาการตรวจสอบจรวดนำส่งก่อนทำการนำส่งครั้งต่อไป

ดาวเทียม Jupiter-3 เป็นดาวเทียมให้บริการการสื่อสารความเร็วสูงของบริษัท Echostar ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท Hughes Networks System โดยเมื่อดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรเรียบร้อยแล้ว ได้เริ่มติดต่อกับสถานีภาคพื้น หลังจากนั้นวิศวกรได้ส่งคำสั่งสำหรับการให้ดาวเทียมกางแผงโซลาร์เซล

เมื่อเปรียบเทียบกับดาวเทียม Jupiter ดวงก่อนหน้านี้ พบว่าดาวเทียม Jupiter-3 มีความสามารถในการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้น 500 Gb ต่อวินาที และสามารถให้บริการได้เมื่อดาวเทียมเข้าไปอยู่ในตำแหน่ง 96 องศาตะวันตก และผ่านการตรวจสอบระบบของดาวเทียม (Health Check) คาดว่าเป็นช่วงเวลาสิ้นปีนี้

บริษัท EchoStar ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกสำหรับการใช้บริการของบริษัท Hughes มีการใช้ Bandwidth เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15% ต่อปี ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด ซึ่งรวมถึงจากกลุ่มดาวเทียมบรอดแบนด์ Starlink ของบริษัทสเปซเอ็กซ์

ดาวเทียม Jupiter-3 เมื่อกางแผงโซลารเซลล์

บริษัท EchoStar สั่งสร้างดาวเทียม Jupiter-3 หรือเรียกอีกชื่อคือ EchoStar-24 เมื่อปี พ.ศ.2560 (ค.ศ.2017)  กับบริษัท Space Systems Loral ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Maxar Technologies และมีแผนการยิงนำส่งในปี 2564 ก่อนเกิดการระบาดโควิดซึ่งส่งผลต่อการสร้างดาวเทียมของบริษัท Mazar และบริษัทสร้างดาวเทียมรายอื่น

Maxar กล่าวถึงดาวเทียม Jupiter-3 มีขนาดเท่ากับรถบัสรับส่งนักเรียนเมื่อเสาอากาศและแผงโซลาร์เซลล์ได้กางออกมาโดยมีขนาดเท่ากับระยะ Wing Span (ระยะทางจากปีกด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง) ของเครื่องบินโบอิ้ง 737 จึงกล่าวได้ว่าเป็นอวกาศยานในลักษณะดาวเทียมใหญ่ที่สุดตั้งแต่สร้างมา

ดาวเทียม Jupiter-3 ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 9,200 กิโลกรัม ได้เข้ามาเป็นที่หนึ่งแทนที่ดาวเทียมสื่อสาร Telstar-19 Vantage ของ Telesat ซึ่งเคยเป็นดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุด มีน้ำหนักประมาณ 7,076 กิโลกรัม โดยขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2561 ด้วยจรวดนำส่ง Falcon 9 ของบริษัทสเปซเอ็กซ์

การยิงนำส่งดาวเทียม Jupiter-3 เป็นเที่ยวบินนำส่งของจรวดนำส่ง Falcon Heavy ครั้งที่สามของปี พ.ศ. 2566 หลังจากได้ยิงนำส่ง ดาวเทียม ViaSat-3 Americas เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2566 โดยเป็นดาวเทียมน้ำหนัก 5600 กิโลกรัม ของบริษัท Viasat ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งของ EchoStar แต่ดาวเทียมดวงนี้ เกิดความผิดพลาดจากปัญหาจานรับส่งสัญญาณ

ภารกิจของ Jupiter-3 เป็นเที่ยวบินที่เจ็ดของจรวดนำส่ง Falcon Heavy นับตั้งแต่เปิดตัวในปี พ.ศ.2561 และเป็นภารกิจครั้งที่ 51 ของบริษัท SpaceX ในปีนี้

แปลและเรียบเรียง : นาวาอากาศเอก ดร.พนม อินทรัศมี

วันพฤหัสบดี ที่ 3 สิงหาคม 2566

ที่มาของข่าวและภาพ :

https://spacenews.com/falcon-heavy-sends-jupiter-3-broadband-giant-toward-geostationary-orbit/

https://www.cnet.com/home/internet/spacex-launches-enormous-satellite-for-faster-rural-broadband/

Previous articleFAA ปรับลดข้อจำกัดการนำส่งดาวเทียมที่ Cape Canaveral
Next articleดาวเทียมสื่อสาร Galaxy-7 และ Holizon-4 ขึ้นสู่วงโคจรโดย Falcon 9

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here