อวกาศยาน Tianzhou 7 เข้าเทีรยบสถานีอวกาศ Tianhe (credit : spacenews.com)

เมื่อวันพุธ ที่ 18 มกราคม พ.ศ.2567 อวกาศยาน Tianzhou-7 เดินทางถึงสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) สำหรับการส่งสิ่งของและเสบียงขณะที่สถานีอวกาศเทียนกงโคจรตามวงโคจร

การเดินทางครั้งนี้ได้รับการนำส่งโดยจรวดนำส่ง Long March 7 ออกเดินทางจากท่าอวกาศยาน Wenchang Satellite Launch Center บนเกาะไหนาน เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2567 เวลา 22.27 ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงปักกิ่ง หรือวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2567 เวลา 14.27 UTC และหลังจากนั้น 10 นาที อวกาศยาน Tianzhou-7 ได้แยกตัวออกจากจรวดนำส่งและเข้าสู่วงโคจร โดยใช้เวลาประมาณอีก 3 ชั่วโมงสำหรับการโคจรและเข้าเทียบกับสถานีอวกาศเทียนกง

จรวดนำส่ง Long March 7 ออกเดินทางเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2567 (Credit : Space.com)

หลังจากนั้นนักอวกาศของจีนได้เข้าสู่สถานีอวกาศและทำการขนถ่ายสิ่งที่บรรทุกขึ้นมาอีกทั้งได้ปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

การเดินทางถึงสถานอวกาศครั้งนี้เป็นครั้งแรกของปี พ.ศ.2567 โดยสถานีอวกาศเทียนกงได้รับการสร้างและประกอบในอวกาศเสร็จสิ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2565 โดยมีนักอวกาศจำนวน 3 คนผลัดเปลี่ยนปฏิบัติงานอยู่ในสถานีอวกาศแห่งนี้เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งในช่วงการผลัดเปลี่ยนการทำงาน ทำให้มีนักอวกาศอยู่บนสถานีอวกาศ 6 คน      

สิ่งของที่บรรทุกขึ้นมาครั้งนี้มีทั้งหมด 260 รายการ รวมน้ำหนัก 5.6 ตัน โดยสิ่งของประมาณ 2.4 ตันเป็นเสบียงสำหรับนักอวกาศ เช่น ผลไม้สดและผัก รวมถึงของขวัญสำหรับปีมังกรด้วย

สาธารณรัฐประชาชนจีนมีแผนสำหรับการการยิงนำส่งในภารกิจส่งของไปยังสถานีอวกาศเทียนกงอีก 3 ภารกิจในปีนี้ คือ Shenzhou 18, Shenzhou 19 และ Tianzhou-8  

หน่วยงาน China Manned Space Engineering Office (CMSEO) มีแผนส่งอวกาศยาน Tianzhou ไปยังสถานีอวกาศเทียนกงให้ได้ทุก 8 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับการวางแผนทุก 6 เดือนและพิจารณาถึงการพัฒนาความสามารถการทำงานของสถานีอวกาศเทียนกง โดยหน่วยงาน CMSEO พยายามพิจารณาแนวทางการส่งสิ่งของขึ้นไปยังสถานีอวกาศให้มีค่าใช้จ่ายให้ต่ำสุดด้วยการให้หน่วยงานอื่นหรือบริษัทเสนอรายละเอียดและขณะนี้มีการนำเสนอแล้ว 4 หน่วยงานซึ่งจะต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมสำหรับรายละเอียดในระยะต่อไป

ทั้ง 4 หน่วยงานที่นำเสนอข้อพิจารณานั้นเป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีนซึ่งจำเป็นต้องเข้าใจแนวทางการยิงนำส่งควรใช้จรวดนำส่งของเอกชนซึ่งไม่ควรพึ่งพาเฉพาะจรวดนำส่ง Long March อย่างเดียว

ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันมีจรวดนำส่ง Kinetica-2 ภายใต้การพัฒนาโดย CAS Space ซึ่งจะเป็นจรวดนำส่งของข้อเสนอที่นำเสนอโดยหน่วยงาน Innovative Academy for Microsatellites (IAMCAS) ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงาน Chinese Academy of Sciences (CAS)

นอกจากนี้ยังมีจรวดนำส่ง Gravity-1 ซึ่งเป็นจรวดนำส่งประเภทเชื้อเพลิงแข็ง (Solid Rocket) โดยบริษัท Orienspace ได้ยิงนำส่งขึ้นสู่อวกาศจากทะเลเหลืองเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งจรวดนำส่งรุ่นนี้เป็นจรวดนำส่งที่มีค่าใช้จ่ายต่ำซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์สำหรับประสิทธิภาพของจรวดนำส่งในอนาคต

ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีแผนการใช้งานสถานีอวกาศเทียนกงอย่างน้อย 10 ปี และในปี พ.ศ.2568 มีแผนที่จะส่งอวกาศยาน Xuntian ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร และมีความสามารถถ่ายภาพในอวกาศและพื้นโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอวกาศยาน Xuntian จะมีวงโคจรคู่กับสถานีอวกาศเทียนกง ในลักษณะ Co-Orbit และที่สำคัญสามารถเข้าเทียบกับสถานที่อวกาศเทียนกงได้เพื่อทำการบำรุงรักษา ซ่อมแซม หรืออัพเกรดได้

นอกเหนือจากนี้ประเทศจีนมีแผนขยายสถานีอวกาศเทียนกงเป็นโมดูลที่สามารถทำงานได้หลายประเภท โดยเฉพาะการเป็นโมดูลสำหรับการเทียบของอวกาศยานที่ส่งขึ้นไปในอวกาศ ทำให้ต้องขยายอายุการใช้งานสถานีอวกาศให้มากขึ้นเพื่อรักษาสถานีอวกาศไว้ในวงโคจรหลังจากที่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) หมดอายุการใช้งานและ Deorbit ในอนาคต

เรียบเรียง : นาวาอากาศเอก ดร.พนม อินทรัศมี

วันเสาร์ ที่ 23 มกราคม 2567

ที่มาของข่าวและภาพ :

– https://spacenews.com/tianzhou-7-reaches-tiangong-in-chinas-first-space-station-mission-of-2024/

– https://en.wikipedia.org/wiki/Xuntian

ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

Previous articleอวกาศยานญี่ปุ่น SLIM ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จแต่ระบบพลังงานไม่ทำงาน
Next articleอวกาศยาน SLIM ยังคงรอคอยความหวัง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here