จรวดนำส่ง Soyuz-Fregat ขณะเคลื่อนที่ขึ้น (Credit : https://russianspaceweb.com/luna-glob-flight.html)

รัสเซียทำการยิงนำส่งอวกาศยานสำหรับลงจอดบนดวงจันทร์ เมื่อวันศุกร์ ที่ 11 สิงหาคม 2566  นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ  47 ปี และจะทำการ่อนลงจอดบริเวณขั้วดวงจันทร์ด้านใต้ ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นบริเวณที่มีร่อยรอยของน้ำแข็งในบริเวณนี้

อวกาศยานทำหน้าที่นำส่งครั้งนี้คือจรวดนำส่ง Soyuz-Fregat ได้เริ่มเคลี่อนที่ขึ้น (Lift Off) เมื่อเวลา 02.11 ใช้เช้าวันศุกร์ (ตามเวลากรุงมอสโค) จากท่าอวกาศยาน Vostochny Cosmodrome ตั้งอยู่ห่างจากกรุงมอสโคไปทางทิศตะวันออก 5,550 กิโลเมตร (3,450 ไมล์) โดยจรวดนำส่งติดตั้งอวกาศยาน Luna 25 สำหรับเดินทางต่อไปดวงจันทร์ และเพียงหนึ่งชั่วโมงหลังจากเริ่มออกเดินทาง Luna 25 ได้เคลื่อนที่ออกจากวงโคจรรอบโลกเข้าสู่ Lunar Transfer Orbit มุ่งสู่ดวงจันทร์

การเดินทางนั้นจะใช้เวลา 5 วันถึงดวงจันทร์ และโคจรรอบดวงจันทร์ 5 – 7 วันก่อนที่จะลดระดับความสูงลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ คาดว่าจะลงจอบบนดวงจันทร์ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 แต่สำหรับตำแหน่งลงจอดนั้นจะเป็นหนึ่งในสามของพื้นที่ซึ่งกำหนดไว้บริเวณขั้วดวงจันทร์ด้านใต้ (Moon South Polar)

อวกาศยาน Luna 25 (Credit : https://nssdc.gsfc.nasa.gov)

อวกาศยาน Luna 25 มีการออกแบบให้เป็นลักษณะ Lunar Lander ซึ่งเป็นอวกาศยานสามารถลงจอดบนพื้นผิวได้ มีน้ำหนักประมาณ 1,750 กิโลกรัม (3,858 ปอนด์) เป็นจรวดสองส่วน (2 Stages) โดยส่วนล่าง (Lower Stage) มีส่วนขาสำหรับลงพื้น (Landing Leg) จำนวน 4 ขา รวมถึงมีเครื่องยนต์ และส่วนเก็บเชื้อเพลิง

สำหรับส่วนล่าง (Lower Stage) เป็นส่วนของฮาร์ดแวร์ที่มีความซับซ้อน โดยอวกาศยานนี้ใช้แผงโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งได้นำอุปกรณ์ทดลอง 8 ประเภทอยู่ภายใน รวมถึงอุปกรณ์ Gamma-Ray and Neutron Spectrometer สำหรับศึกษาพื้นผิวดวงจันทร์  อุปกรณ์ Infrared Spectrometer สำหรับการตรวจหาพื้นผิวน้ำแข็ง รวมถึงอุปกรณ์ Panoramic Imaging System สำหรับการจับภาพ และส่วนแขนยืดออกมายาว 1.6 เมตร (5.25 ฟุต) ซึ่งมีด้านปลายเป็นช้อนตัก (Scoop) สำหรับขุดลงไปในพื้นผิวและตักตัวอย่างสารในพื้นผิวแล้วส่งมายังในตัวอวกาศยานเพื่อทำการวิเคราะห์ด้วยเลเซอร์ (Laser) และด้วยอุปกรณ์ Gamma-Ray and Neutron Spectrometer

การทำงานของอวกาศยาน Luna-25 สามารถปฏิบัติงานบนดวงจันทร์ได้ประมาณ  1 ปีบริเวณพื้นที่ขั้วดวงจันทร์ด้านใต้

รัสเซียเคยส่งอวกาศยานปราศจากมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์มาแล้วคืออวกาศยาน Luna 24 ภายใต้ประเทศรัสเซียขณะนั้น โดยเริ่มเดินทางเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2519 โดยสามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้บริเวณ Mare Crisium (Sea of Crisis) และกลับมายังโลกเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2519 พร้อมกับนำดินตัวอย่างของดวงจันทร์ (Lunar Sample Soil) 170 กรัมกลับมาด้วย  

ขณะที่รัสเซียได้ส่ง Luna 25 ไปลงบนดวงจันทร์นั้น เป็นเวลาเดียวกับอวกาศยาน Chandrayaan 3 Lunar Rover ของอินเดีย ซึ่งเริ่มเดินทางเมื่อ 14 กรกฎาคม 2566 กำลังเดินทางถึงดวงจันทร์และจะทำการลงจอดบริเวณขั้วดวงจันทร์ด้านใต้  เช่นเดียวกับ Luna 25 ทำให้อวกาศยานทั้งสองชาติอาจลงจอดในช่วงเวลาเดียวกัน

ผู้เกี่ยวข้องด้านอวกาศสนใจพื้นที่ขั้วดวงจันทร์ด้านใต้อย่างมาก เนื่องจากบริเวณนี้อาจมีน้ำแข็งรอบปล่องภูเขา (Craters) ซึ่งน้ำแข็งเหล่านี้สามารถนำมาละลายให้เป็นน้ำสำหรับดื่ม หรือเปลี่ยนเป็นออกซิเจน รวมทั้งสามารถเป็นเชื้อเพลิงโฮโดรเจนออกซิเจนสำหรับจรวด (Hydrogen-Oxygen Rocket Fuel) ได้   

การเดินทางไปลงบนดวงจันทร์เป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าแต่ละชาติสามารถดำเนินการได้ แต่ยากสำหรับการประสบความสำเร็จ โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2566 บริษัท Ispace ประเทศญี่ปุ่น ส่งอวกาศยาน Hakuto (ภาษาญี่ปุ่นแปลว่ากระต่ายขาว) ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ แต่ร่วงตกและระเบิดขณะที่มีความสูงเหนือพื้นผิวเพียง 10 เมตรก่อนลงจอด

อวกาศยาน Hakuto ของ Ispace (Credit : https://aviationweek.com)

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน 2562 อวกาศยาน Bersheet ประเทศอิสราเอล เดินทางไปดวงจันทร์ โดยขณะเคลื่อนที่อยู่ที่ความสูง 149 เมตร เหนือพื้นผิวดวงจันทร์ อวกาศยานเกิดการหมุนและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ตกลงมาสู่พื้นผิวดวงจันทร์ และเมื่อเดือนกันยายน 2562 เช่นเดียวกัน อวกาศยาน Chandrayaan 2 เดินทางไปดวงจันทร์ โดยสามารถเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ได้และลงจอดบนดวงจันทร์ ชุดการขับเคลื่อนสำหรับเบรก (Braking Thruster) เกิดความผิดพลาด ทำให้อวกาศยานตกลงบนพื้นผิวดวงจันทร์และระเบิด

อุปสรรคที่ทำให้เกิดความยานต่อการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ของอวกาศ เช่น การไม่มีชั้นบรรยากาศทำให้ร่มสำหรับกางในการลงจอดไม่สามารถทำงานได้ พื้นผิวดวงจันทร์มีลักษณะไม่เรียบมีความสูงที่แตกต่างกันทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวการลงจอดในช่วงสุดท้ายหรือกล่าวได้ว่าวินาทีสุดท้าย อีกทั้งอาจมีเมฆฝุ่นบนพื้นผิวดวงจันทร์ เรียกว่า Mascons หรือ Mass Concentratations-Dense ส่งผลต่อการตรวจจับของกล้องบนอวกาศยานขณะทำการลงจอด รวมถึงสารโลหะที่หลงเหลืออยู่จากอุกาบาตที่ตกและมอดไหม้อยู่ในผิวของดวงจันทร์ตั้งแต่อดีต ทำให้แรงดึงดูดดวงจันทร์มีการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้สามารถเปลี่ยนแนวิถีการลงจอดขณะที่กำลังเคลื่อนที่ลดความสูงสู่พื้นผิวดวงจันทร์

หน่วยงานรับผิดชอบต่อภารกิจนี้ของรัสเซียคือ Roscosmos มีแผนการหลังจากภารกิจ Luna 25 แล้วจะมีภารกิจของอวกาศยาน Luna 26 ในปี 2570 สำหรับการสแกนพื้นผิวดวงจันทร์สำหรับสิ่งที่อยู่ภายในน้ำแข็งและมีประโยชน์  จากนั้นจะมีอวกาศยานอีกลำที่จะเดินทางไปสำรวจพื้นที่ขั้วดวงจันทร์ด้านใต้ด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยกว่าที่ใช้กับ Lunar 25 แต่ยังไม่ประกาศว่าเป็นปีใด

 ตามแผนการยิงนำส่งอวกาศยาน Luna 25 มีกำหนดการในเดือนตุลาคม 2564 แต่มีปัญหาด้านเทคนิคทำให้โครงการนี้เกิดความล่าช้า อีกทั้งองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency : ESA) มีส่วนร่วมกับโครงการนี้โดยต้องการติดตั้งอุปกรณ์ Pilot-D Navigation Camera สำหรับทดสอบไปกับอวกาศยาก แต่เกิดเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนทำให้องค์การบริหารยุโรปยกเลิกการติดตั้งกล้องตัวนี้ และรัสเซียต้องเสียเวลาสำหรับดัดแปลงอวกาศยานเพิ่มเติมส่งผลให้การยิงนำส่งต้องล่าช้าออกไป

กล่าวได้ว่านีล อาร์มสตรอง (Niel Armstrong) คือบุคคลที่เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์คนแรกของโลก เมื่อปี 2512 แต่ความจริงแล้วเคยมีอวกาศยานของรัสเซีย (โซเวียตในขณะนั้น) Luna 2 เดินทางไปยังพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อปี 2502 โดยเริ่มเดินทางเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2502 และอีกสองวันต่อมาคือวันที่ 14 กันยายน 2502 อวกาศยาน Luna 2 ขาดการติดต่ออย่างกระทันหันซึ่งบ่งชี้ว่าอวกาศยาน Luna 2 ตกลงบนพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณ Palus Putredinus ทำให้อวกาศยานลำนี้เป็นอวกาศยานลำแรกซึ่งตกลงบนพื้นผิวดวงจันทร์และกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าเป็นครั้งแรกสำหรับอวกาศยานตกลงบนพื้นผิวดวงดาวอื่นในระบบสุริยจักรวาล ต่อมาความพยายามของรัสเซียมาสำเร็จในภารกิจ Luna 9 เมื่อปี 2509 และรัสเซียกำลังรผลของภารกิจ Luna 25 ซึ่งกำลังดำเนินการขณะนี้สำหรับความก้าวหน้าในการสำรวจอวกาศที่ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจ ไม่ใช่เพียงสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวที่เคยแข่งขันมาในยุคการแข่งขันด้านอวกาศ (Space Race)

แปลและเรียบเรียง : นาวาอากาศเอก ดร.พนม อินทรัศมี

วันอาทิตย์ ที่ 13 สิงหาคม 2566

ที่มาของข่าว :

https://time.com/6303012/russia-new-moon-rocket/

https://www.reuters.com/technology/space/russia-launch-lunar-spacecraft-race-find-water-moon-2023-08-10/

https://www.nytimes.com/2023/08/10/science/russia-moon-launch.html

https://nssdc.gsfc.nasa.gov/nmc/spacecraft/display.action?id=1959-014A

https://nssdc.gsfc.nasa.gov/nmc/spacecraft/display.action?id=LUNA-25   

https://russianspaceweb.com/

https://nssdc.gsfc.nasa.gov/nmc/spacecraft/display.action?id=LUNA-25

ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

Previous articleเที่ยวบินท่องเที่ยวอวกาศแรกของ Virgin Galactic
Next articleจีนส่งดาวเทียมเรดาร์ไปที่วงโคจร Geosynchronous Orbit

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here